|
|
|
|
|
|
|
:: รูปแบบธุรกิจในประเทศไทย :: |
|
|
|
3. บริษัทจำกัด
รูปแบบธุรกิจ
- บริษัทจำกัด
การประกอบธุรกิจที่มีบุคคล 7 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการเรียกว่า "ผู้ถือหุ้น" ผู้ถือหุ้นรับผิดในหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนตกลงจะร่วมลงทุน บริษัทจำกัดจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- บริษัทมหาชนจำกัด
การประกอบธุรกิจที่มีบุคคล 15 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการเรียกว่า "ผู้ถือหุ้น" ผู้ถือหุ้นรับผิดในหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนตกลงจะร่วมลงทุนคล้ายกับบริษัทจำกัด จะต่างกันก็คือ บริษัทมหาชนจำกัด สามารถนำหุ้นออกเสนอขายต่อประชาชนโดยทั่วไปได้ และมีกฎข้อบังคับที่จะต้องปฏิบัติเคร่งครัดกว่าบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัดจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
การจดทะเบียน
- บริษัทจำกัด
- ยื่นแบบขอจองชื่อบริษัทเพื่อตรวจสอบไม่ให้ซ้ำกับห้างหุ้นส่วนบริษัทอื่น
- จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ โดยกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อบริษัท จังหวัดที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ กิจการที่จะทำ ทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น มูลค่าหุ้น ชื่อ ที่อยู่ อายุ อาชีพ จำนวนหุ้นที่จะลงทุน (ซึ่งต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อย 1 หุ้น) และลายมือชื่อของผู้เริ่มก่อตั้งบริษัททุกคน ในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิสนธิ(หนังสือบริคณห์ - สนธิต้องผนึกอากรแสตมป์ 200 บาท) และให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทคนหนึ่งคนใดก็ได้ เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปยื่นจดทะเบียนแทนก็ได้ การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิต้องเสียค่าธรรมเนียมตามจำนวนทุน กล่าวคือ ทุนจดทะเบียนแสนละ 50 บาท แต่ไม่ต่ำกว่า 500 บาท และสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท
- จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด เมื่อผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้เริ่มจัดตั้งจะต้องนัดผู้จองซื้อหุ้นเพื่อประชุมจัดตั้งบริษัท ต่อจากนั้นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมจัดตั้งบริษัท จะต้องเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจากผู้จองซื้อหุ้น (คราวแรกให้เรียกเก็บค่าหุ้นๆ ละไม่ต่ำกว่าร้อยละยี่สิบห้า) และกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัท ต้องจัดทำคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทยื่นจดทะเบียนภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประชุมจัดตั้งบริษัท การจดทะเบียนบริษัทต้องเสียค่าธรรมเนียมตามจำนวนทุน กล่าวคือทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท แต่ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท
- ปกติการยื่นขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ผู้เริ่มจัดตั้งและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียน จะต้องลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ในกรณีผู้เริ่มจัดตั้งหรือกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทที่ขอจดทะเบียน ไม่ประสงค์จะไปลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน ก็สามารถลงลายมือชื่อต่อหน้าสามัญหรือวิสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาเพื่อให้รับรองลายมือชื่อของตนเองได้ในอีกทางหนึ่ง
- บริษัทมหาชนจำกัด การเป็นบริษัทมหาชนจำกัดมีวิธีดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
- บริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่
- ยื่นแบบขอจองชื่อบริษัทเพื่อตรวจสอบไม่ให้ชื่อบริษัท ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ซ้ำกับห้างหุ้นส่วนบริษัทและบริษัทมหาชนจำกัดอื่น
- จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ โดยกรอกรายละเอียดชื่อบริษัททั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ (ภาษาไทยต้องมีคำว่า "บริษัท" นำหน้าชื่อและต่อท้ายด้วยคำว่า "จำกัด (มหาชน)" ส่วนภาษาต่างประเทศต้องมีคำว่า "Public Company Limited" ต่อท้ายชื่อ) กิจการที่จะทำ ทุนจดทะเบียน มูลค่าหุ้น จำนวนหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ จังหวัดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ชื่อ วันเดือนปีเกิด สัญชาติ ที่อยู่ของผู้เริ่มจัดตั้งบริษัท จำนวนหุ้นที่ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทแต่ละคนจองไว้ (ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนจะต้องจองซื้อหุ้นที่เป็นตัวเงินรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของทุนจดทะเบียน) และลายมือชื่อของผู้เริ่มจัดตั้งบริษัททุกคนในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ และให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทคนหนึ่งคนใดก็ได้ เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปยื่นจดทะเบียนแทนก็ได้การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิต้องเสียค่าธรรมเนียมตามจำนวนทุน กล่าวคือ ทุนจดทะเบียนทุกหนึ่งล้านบาท เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท เศษของหนึ่งล้านบาทให้คิดเป็นหนึ่งล้านบาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 25,000 บาท
- จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด เมื่อผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้เริ่มจัดตั้งจะต้องนัดผู้จองซื้อหุ้นเพื่อประชุมจัดตั้งบริษัท ต่อจากนั้นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมจัดตั้งบริษัทจะต้องเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจากผู้จองซื้อหุ้น (คราวแรกให้เรียกเก็บค่าหุ้นๆ ละไม่ต่ำกว่าร้อยละยี่สิบห้า) และกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทต้องจัดทำคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทยื่นจดทะเบียนภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประชุมจัดตั้งบริษัท การจดทะเบียนบริษัทต้องเสียค่าธรรมเนียมตามจำนวนทุน กล่าวคือ ทุนจดทะเบียนแสนละ 500 บาท แต่ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท
- การยื่นขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทและกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจะต้องลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ในกรณีผู้เริ่มจัดตั้งหรือกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทที่ขอจดทะเบียนไม่ประสงค์จะไปลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนก็สามารถลงลายมือชื่อต่อหน้าทนายความ หรือผู้สอบบัญชี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อให้รับรองลายมือชื่อของตนเองได้ในอีกทางหนึ่ง
- การแปรสภาพบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัด
จัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้มีมติพิเศษให้บริษัทจำกัดแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 รวมทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้สอบบัญชีขึ้นใหม่ (ข้อบังคับของบริษัทมหาชนจำกัด จะต้องกำหนดในเรื่องการออกหุ้นและการโอนหุ้น การประชุมผู้ถือหุ้น จำนวน วิธีการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดออกตามวาระการประชุมและอำนาจกรรมการ การบัญชี การเงิน และการสอบบัญชี การออกหุ้นบุริมสิทธิ์ และการแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญข้อบังคับจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหนังสือบริคณห์สนธิและพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535) หลังจากนั้นให้กรรมการยื่นจดทะเบียนแปรสภาพภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่มีมติให้แปรสภาพ การจดทะเบียนแปรสภาพจะต้องเสียค่า ธรรมเนียม 10,000 บาท
- การควบบริษัทจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัด
บริษัทจำกัดสามารถควบกับบริษัทมหาชนจำกัดได้ โดยภายหลังควบ บริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่มีสภาพเป็นบริษัท มหาชน จำกัด การควบบริษัทจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัดนั้น ให้บริษัทจำกัดดำเนินการจัดทำมติพิเศษตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบริษัทมหาชนจำกัดต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียง การจดทะเบียนควบบริษัทจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัด ต้องเสียค่าธรรมเนียม 5,000 บาท
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|