:: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ::
 
 
4. ประเภทของเงินได้พึงประเมิน
เพื่อให้การกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินเป็นไปอย่างใกล้เคียงและเป็นธรรมในการเสียภาษี จึงได้จำแนกประเภทของเงินได้พึงประเมิน ตามลักษณะของการได้มาออกเป็น 8 ประเภท รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงิน หรือผู้อื่นออกแทนให้ สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็น
    1. เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
    2. เงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้างจ่ายให้
    3. เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
    4. เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
    5. เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
  • ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็น
    1. ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
    2. เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
    3. เงินค่าเช่าบ้านที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายให้ เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
    4. เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
    5. เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
  • ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์
    ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่นเงินปีหรือเงินได้ที่มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่นหรือคำพิพากษาของศาล
  • ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือเงินได้อื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน แบ่งออกเป็น
    1. ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ยผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม ดอกเบี้ยบางประเภทกฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขการหักภาษี ณ ที่จ่าย และให้มีสิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ15.0 ของเงินได้โดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นก็ได้ สำหรับเงินได้ดังต่อไปนี้
      (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋ว เงินที่ได้จากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรมเช่น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
      (ข) ผลต่างระหว่างค่าไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก และมีการจำหน่ายครั้งแรกต่ำกว่าราคาไถ่ถอนและผู้มีเงินได้เป็นผู้ทรงคนแรก
    2. เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกองทุนรวม (ที่เป็นคณะบุคคล) หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร์) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว ในกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็น ผู้มีเงินได้จากเงินปันผลนี้ และความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดา แต่ถ้าความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของบิดาในกรณีบิดา -มารดา ใช้อำนาจปกครองร่วมกัน เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ถ้าผู้มีเงินได้เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยหรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ได้รับเครดิตในการคำนวณภาษีของเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับ และให้นำเครดิตภาษีดังกล่าวมารวมเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษีด้วย อย่างไรก็ตามผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้ จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อย่างอื่นสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม (ที่เป็นคณะบุคคล) หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้โดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นก็ได้
    3. (3) เงินโบนัสที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
    4. (4) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
    5. (5) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือเงินที่กันไว้รวมกัน
    6. (6) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
    7. (7) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือโอนหุ้น หุ้นกู้พันธบัตรหรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือ นิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน และเงินได้ประเภทที่ 4 (7) นี้ ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ15 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นก็ได้
  • ประเภทที่ 5 ได้แก่ เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
    1. การให้เช่าทรัพย์สิน
    2. การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
    3. การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้นโดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
    ในกรณีตาม 1. ถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันสมควรเชื่อว่า ผู้มีเงินได้แสดงเงินได้ต่ำไปไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินได้นั้น ตามจำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ตามปกติ ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม

    ในกรณี 2.และ3.ให้ถือว่าเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับแล้วแต่วันทำสัญญาจนถึงวันผิดสัญญาทั้งสิ้นเป็นเงินได้พึงประเมินของปีที่มีการผิดสัญญานั้น

  • ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ (ปัจจุบันยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวิชาชีพอิสระอื่น)
  • ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจาก เครื่องมือ
  • ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือ การอื่นที่นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 - 7 แล้ว
หมายเหตุ : ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5, 6, 7 และหรือ 8 ไม่ว่าจะมีเงินได้อื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้ รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีด้วย