|
|
|
|
|
|
|
4. วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ก. แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
แบบคำขอ ที่ใช้ในการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ แบบ ภ.พ.01 ซึ่งขอรับได้ที่สำนักงานสรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรอำเภอ(สาขา) สำนักงานสรรพากรกิ่งอำเภอ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรเขต ทุกแห่ง
ข. การกรอกแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01)
การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการต้องกรอกแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 3 ฉบับ โดยมีข้อความครบถ้วนถูกต้องตรงกันทั้ง 3 ฉบับ ในการกรอกรายการตาม แบบ ภ.พ.01 ประกอบการต้องแสดงสถานภาพต่าง ๆ ของการประกอบการดังรายละเอียดตามที่ปรากฏในแบบ ดังนี้
- ข้อ 1 ชื่อผู้ประกอบการ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
กรณีประกอบการในรูปบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่ มิใช่นิติบุคคล ให้กรอก ชื่อ - นามสกุล ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรพร้อมกับวันเดือนปีเกิด เลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกอบการด้วย
กรณีประกอบการในรูปของนิติบุคคล ให้กรอกชื่อของนิติบุคคลที่ใช้ในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทตามที่ปรากฎในหนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ พร้อรายละเอียดเลขที่ทะเบียนนิติบุคคล วันเดือนปีที่จดทะเบียน รอบระยะเวลาบัญชี และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนิติบุคคลนั้น
- ข้อ 2 ชื่อและที่ตั้งสถานประกอบการ
2.1 ชื่อและที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ให้กรอกชื่อของสถานประกอบการของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล (ถ้ามี) ซึ่งได้แก่ ชื่อทาง การค้าและกรอกเลขที่ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการหรือที่ตั้งของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
2.2 กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ระบุจำนวนสถานประกอบการสาขา โดยกรอกรายละเอียด ชื่อและที่ตั้งของสาขาทั้งหมดลงในหน้าหลังของ แบบ ภ.พ.01
หมายเหตุ คำว่าสถานประกอบการ หมายความถึงสถานที่ผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ และหมายความรวมถึง สถานที่ที่ใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย
- ข้อ 3 วันเริ่มประกอบการ
ให้กรอกวันที่ผู้ประกอบการเริ่มประกอบกิจการและรายละเอียดเกี่ยวกับเงินทุน เครื่องจักร รายรับต่อเดือน ลูกจ้างและค่าเช่าของสถานประกอบการ
- ข้อ 4 ประเภทของการประกอบกิจการ
ให้ผู้ประกอบการระบุลักษณะของกิจการ โดยใส่เครื่องหมายถูกลงในช่อง ประเภทของการประกอบกิจการ โดยด้วย และระบุประเภทสินค้าหรือบริการที่เป็นรายได้หลัก 3 อันดับแรกของกิจการด้วย
-
ข้อ 5 ระบุความประสงค์ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบการที่มีรายรับเกินกว่า 600,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี สามารถเลือกที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จากรายรับก่อนหักรายจ่าย (อัตราร้อยละ 1.5) หรือจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนก็ได้ (อัตราร้อยละ 10) โดยระบุการ
คำนวณภาษีตาม
- คำนวณจากรายรับในการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรในแต่ละเดือนภาษี หรือ
- คำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี
หมายเหตุ
- การคำนวณมูลค่าของรายรับ ให้คำนวณมูลค่าของการส่งออกรวมกับมูลค่าของการขายสินค้าหรือการให้บริการด้วย
- คำว่า ปี หมายถึง
1 กรณีผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หมายถึง ปีปฏิทิน เว้นแต่ในกรณีเริ่มประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คำว่า ปี หมายถึงวันเริ่มประกอบกิจการจนถึงวันสิ้นปีปฏิทิน
2 กรณีผู้ประกอบการเป็นนิติบุคค หมายถึง รอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่กรณีเริ่มประกอบกิจการ คำว่า ปี หมายถึง วันเริ่มประกอบกิจการจนถึงวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
-
ข้อ 6 เอกสารที่แนบ
ให้นับจำนวนเอกสารทั้งสิ้น ที่แนบมาพร้อมกับ แบบ ภ.พ.01 แล้วกรอกไว้ในช่องด้านหลังของแบบ ภ.พ.01
-
ข้อ 7 การลงชื่อของผู้ประกอบการ และการประทับตรานิติบุคคล
กรณีบุคคลธรรมดา ให้ลงชื่อของผู้ประกอบการตามที่ระบุไว้ใน ข้อ 1.
กรณีที่เป็นนิติบุคคล ให้ลงชื่อกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น พร้อมกับประทับตราของนิติบุคคล (ถ้ามี)
ค. เอกสารที่ต้องแนบพร้อมกับแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- กรณีผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา ให้แนบภาพถ่าย บัตรประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ
- กรณีผู้ประกอบการเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการในนามคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ พร้อมกับสำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือการ จัดตั้งคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าว
- กรณีผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการ ผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการพร้อมกับสำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำเนาหนังสือบริคณท์สนธิและข้อบังคับ และสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ หรือหลักฐานอื่นที่แสดงฐานะเป็นนิติบุคคล แล้วแต่กรณี
- กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร และตัวแทนได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรดังกล่าว ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำแทน และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ พร้อมกับหนังสือตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีการรับรองโดยสถานฑูตหรือสถานกงสุลหรือบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นชอบ
- การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการตามข้อ (1) ถึง (4) กรณีมีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทน ให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ คือ ผู้ประกอบการตาม (1) และผู้มีอำนาจกระทำการแทนตาม (2)(3)(4)และภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
- กรณีผู้ประกอบการตาม (1) ถึง (4) ให้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ ให้แนบเอกสาร และดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) กรณีใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการให้ติดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการดังกล่าว
(ข) ให้แนบสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านซึ่งแสดงที่ตั้งอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะส่งหนังสือโดยทางไปรษณีย์ได้ หรือหลักฐาน แสดงการอยู่อาศัยจริง
(ค) ถ้าเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ให้แนบสัญญาเช่าโดยสัญญาเช่าดังกล่าว ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย และถ้าเป็นกรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แนบหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งของสถาน
ประกอบการและสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ
- กรณีสถานที่ตั้งของสถานประกอบการแห่งใดยังไม่มีทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้แนบแผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขปพร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการนั้น การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับแนบเอกสารดังกล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการต้องแสดงเอกสารตัวจริงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรด้วย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|