:: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ::
 
 
4.5. เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา ๖๕ ตรี (รายจ่ายต้องห้าม)
  • เงินสำรองต่าง ๆ นอกจาก

    ก. เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันชีวิตที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ ๖๕ ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี หลังจากหักเบี้ยประกันซึ่งเอาประกันต่อออกแล้วถือเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชี ถ้ากิจการจำเป็นต้องใช้เงินตามจำนวนที่เอาประกัน สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายใด ไม่ว่าเต็มจำนวน หรือบางส่วนเงินที่ใช้ไปเฉพาะส่วนที่เกินเงินสำรองที่ตั้งไว้ถือเป็นรายจ่ายได้ (ส่วนที่ไม่เกินถือเป็นรายจ่ายไม่ได้) เมื่อกรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นสุดลงโดยการเลิกสัญญากรมธรรม์เงินสำรองที่ตั้งไว้สำหรับกรมธรรม์รายที่เลิกต้อง โอนกลับไปเป็นรายได้ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกกรมธรรม์นั้น

    ข. เงินสำรองจากเบี้ยประกัน เพื่อสมทบทุนประกันภัยอื่นที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันต่อออกแล้วถือเป็นรายจ่ายได้ เงินสำรองที่กันไว้นี้ จะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไป

    ค. เงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับหนี้จากการให้สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กันไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฎในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน

    เงินสำรองส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นตามวรรคหนึ่ง และได้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไปแล้วใน รอบระยะเวลาบัญชีใดต่อมาหากมีการตั้งเงินสำรองดังกล่าวลดลง ให้นำเงินสำรองส่วนที่ตั้งลดลงซึ่งได้ถือเป็นรายจ่ายไปแล้วนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตั้งเงินสำรองลดลงนั้น

  • เงินกองทุน เว้นแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ.2533)
  • รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวการให้โดยเสน่หาหรือการกุศล เว้นแต่รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไร สุทธิซึ่งมีหลักเกณฑ์ตามประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 44)ดังนี้

    ข้อ 1. รายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายให้หรือเพื่อ กิจการดังต่อไปนี้
    1. การส่งเสริม อนุรักษ์ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า
    2. การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติตามกฎหมาย ว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
    3. การคุ้มครองและรักษาป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมาย ว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ
    4. การส่งเสริม คุ้มครองและรักษาและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกำหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
    5. การควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ หรือภาวะมลพิษและของเสียอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
    6. กองทุนสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
    ทั้งนี้ รายจ่ายตาม (1) ถึง (5) ต้องเป็นการจ่ายให้แก่กิจการตามโครงการพระราชดำริของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือองค์การกุศลสาธารณะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลร้ษฎากร

    ข้อ 2 รายจ่ายเพื่อการศึกษา ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้
    1. สถานศึกษา หอสมุดหรือห้องสมุด หรือสถาบันวิจัย ทั้งนี้เฉพาะของทางราชการ
    2. การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นการทั่วไป
    3. กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างสถานศึกษา หอสมุด หรือห้องสมุดของทางราชการ
    4. สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคล อื่นและสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

    ข้อ 3 รายจ่ายเพื่อการกีฬา ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้
    1. การกีฬาแห่งประเทศไทย
    2. คณะกรรมการกีฬาจังหวัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด
    3. กรมพลศึกษา เพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน
    4. สมาคมกีฬาสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย
    5. ค่ารับรองหรือค่าบริการ ส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ดังนั้น ค่ารับรองที่จะหักเป็นรายจ่ายได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดโดยกฎหระทรวงฉบับที่ 143 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๒๒ สำหรับรอบระายะเวลาบัญชีที่เริ่ม ใน 2542 เป็นต้นไป)

    ก. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจ ทั่วไป และบุคคลซึ่งได้รับรองหรือรับบริการ ต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าว จะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
    ข. ค่ารับรองหรือค่าบริการต้อง
        ๑. เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือ
        ๒. เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่ มีการรับรองหรือการบริการ
    ค. จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเท่าที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมหรือคำนวณกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายใดในรอบระยะเวลาบัญชี หรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
    ง. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคล ดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือคำสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงินสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร

    6. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือรายจ่ายในการต่อเติมเปลี่ยนแปลงขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม
    6. (ทวิ) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำร และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภาษีซื้อจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามอธิบดีกำหนด) หรือภาษีซื้ออื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 243) พ.ศ.2543 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 42)
    7. การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
    8. เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร
    9. รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นเว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้
    10. ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็น เจ้าของเองและใช้เอง
    11. ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่างๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง
    12. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลา บัญชีก่อนๆ เว้นแต่ผลขาดทุนสุทธิ ยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันสำหรับการนำผลขาดทุนสุทธิมาหักนี้ กรมสรรพากรได้วางแนวทางได้ดังนี้ "สถาบันการเงิน" หมายความว่า
        - ต้องเป็นผลขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้คำนวณขึ้นตามเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
        - เป็นผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งย้อนหลังขึ้นไปได้ไม่เกินห้าปีนับจากปีปัจจุบัน
        - ให้นำผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นในของรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดขึ้นก่อนนำไปหักจากผลกำไรของรอบระยะ เวลาบัญชีแรกที่มีผลกำไรก่อนหากปรากฎว่าเมื่อหักกลบลบกันแล้วยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่กิจการมีสิทธิจะนำผลขาดทุนสุทธิ นั้นไปหักจากกำไรปีต่อๆ ไปได้อีกแต่ต้องไม่เกินห้ารอบระยะเวลาบัญชีหากเกินห้ารอบระยะเวลาบัญชี ย่อมหมดสิทธิที่จะยก ไปหักอีกต่อไป
    13. รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ
    14. รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ
    15. ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อ หรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
    16. ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำ
    17. ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ
    18. รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
    19. รายจ่ายใดๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว
    20. รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (19) ซึ่งจะกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

    ปัจจุบันมีพระราชกฤษฏีกาฯ(ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 กำหนดว่ารายจ่ายต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิ (ใช้บังคับสำหรับทรัพย์สินที่ได้มา หรือที่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป)
    1. มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะส่วนที่เกินคันละหนึ่งล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่
        ก. ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวได้เพื่อเป็นสินค้า หรือ
        ข. ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์มีระยนต์ประเภทดังกล่าวไว้ เพื่อการ
    ให้เช่าเฉพาะ มูลค่าที่เหลือหลังจากหักค่า สึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร .คำว่า "ทรัพย์สิน" หมายความรวมถึง ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการซื้อ รวมถึงการเช่าซื้อหรือการซื้อขาย เงินผ่อนด้วย
    2. ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัด อัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะค่าเช่าส่วนที่เกินคันละสามหมื่นหกพันบาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละหนึ่งพันสองร้อยบาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวันเศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่าไม่ถึงหนึ่งวัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่าทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย